โครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย (Thailand High-speed Rail Project) เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่เป็นโอกาสสำคัญของประเทศ เพื่อเป็นสะพานที่จะเชื่อมโยงในการพัฒนา เศรษฐกิจและเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่ม แม่น้ำโขง เนื่องจากไทยถือเป็นศูนย์กลางของอินโดจีนและมีเป้าหมายในการก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ รวม 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายเหนือ สายตะวันออก สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้
โดยมีแผนการดําเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการพัฒนาระบบรางระดับชาติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลภายใต้แกนนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเร่งรัดผลักดันเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการลงทุนหลักของประเทศ และก้าวไกลในเวทีโลก
โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านคมนาคม ที่จะเชื่อมโยงระหว่างท่าอากาศยานหลักของประเทศ คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และนำความเจริญเติบโตด้านต่างๆ เข้าสู่พื้นที่ EEC สร้าง New S-Curve ให้กับเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้เพื่อให้ รถไฟไทย เป็นหนึ่งใน โครงข่ายคมนาคม เพื่ออนาคตของประเทศและคนไทยทุกคน